ประเด็นร้อน

ป.ป.ช.ปิดช่อง 'นายพล' ซุกทรัพย์สิน ส่องกระเป๋า ขรก. สกัดโกงเงินแผ่นดิน

โดย ACT โพสเมื่อ Jul 11,2018

- - ขอบคุณข้อมูลจาก ประชาชาติธุรกิจ - -

 

เงียบหายไปพักใหญ่ ภายหลังสำนักงาน คณะกรรมการป้องกันและปราบปราม การทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อยู่ระหว่าง ตรวจสอบข้อเท็จจริง "แหวน (เพชร) แม่-นาฬิกา (หรู) เพื่อน" ที่มี "พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ" รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็น "จำเลยสังคม"ทว่าท่ามกลางความเงียบสงัด กรรมการ ป.ป.ช. "จุดพลุ" ธรรมาภิบาล อาศัยอำนาจร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. .... ซึ่งระหว่างรอการประกาศบังคับใช้เพื่อ "ลดดีกรี" ความร้อนแรงปมแหวนแม่ - นาฬิกาเพื่อน

 

"ป.ป.ช.อยู่ระหว่างจัดทำประกาศสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อกำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน เพิ่มเติม เบื้องต้นจะมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงในกระทรวงกลาโหม และทหารเพิ่มเติมด้วย"นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการ ป.ป.ช. เปิดประเด็นระหว่างกล่าวเปิด การประชุมชี้แจง-รับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการบังคับใช้ร่าง พ.ร.ป.ป.ป.ช.ฉบับใหม่

 

เป็นเพิ่มการกำหนดลักษณะของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชี-เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่รัฐ นอกเหนือไปจากบทบัญญัติมาตรา 102 ในร่าง พ.ร.ป.ป.ป.ช. อาทิ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ตุลาการศาลยุติธรรม ตุลาการศาลปกครอง ข้าราชการอัยการ

 

ก่อนหน้านี้ ป.ป.ช.ได้กำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่รัฐส่วนกลาง-ท้องถิ่น ทั้งตำรวจพลเรือน และรัฐวิสาหกิจ-องค์การมหาชน ต้องยื่นบัญชีแสดงรายได้ทรัพย์สิน-หนี้สินไปก่อนหน้านี้แล้ว

 

"เลขาธิการ ป.ป.ช." กล่าวว่า ป.ป.ช. ได้กำหนดให้ตำรวจและเจ้าหน้าที่ศุลกากรยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและ หนี้สินแล้ว ครั้งนี้จึงได้กำหนดทหารเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดความเสมอภาค ทุกองค์กร เช่น องค์การมหาชน รัฐวิสาหกิจ เพื่อปิดช่องว่าง ซึ่งเดิมกำหนดทีละจุด ๆ แต่คราวนี้เริ่มใหม่ โดยประกาศปูพรม เพื่อให้เกิดความเสมอภาค ทุกองค์กร ให้โอกาสผู้ที่ดำรงตำแหน่งสูง ๆ ได้เป็นผู้นำในการเปิดเผยแสดงความ โปร่งใส

 

ด้าน "มานะ นิมิตรมงคล" เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เห็นสอดคล้องกันว่า มาตรการดังกล่าวจะสามารถช่วยป้องปรามข้าราชการ ในกองทัพให้เกิดความเกรงกลัว-ไม่กล้าทุจริตได้ และเป็นมาตรการที่ถูกต้อง เพราะตำแหน่งที่ถูกกำหนดมาเป็นคนที่ใช้อำนาจและเกี่ยวข้องกับการใช้งบประมาณ

 

"ทหารในตำแหน่งสำคัญต้องยื่นและเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเรื่องที่พูดกันมานานแล้ว เจ้าหน้าที่ของรัฐควรมีหน้าที่ต้องปฏิบัติในทำนองเดียวกัน ไม่ควรมีใครได้รับอภิสิทธิ์เพื่อให้อยู่ภายใต้กฎ กติกาเดียวกัน"

 

เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันกล่าวว่า เรื่องความโปร่งใสสำคัญที่สุด ตั้งแต่การกำหนดงบประมาณ ราคากลาง ทีโออาร์และระหว่างขั้นตอนการ ดำเนินงานต้องมีการรับรู้มากขึ้น ที่ผ่านมาไม่ดีเท่าที่ควร ยังมีคำถามอยู่ ในระบบราชการด้วยกัน การจัดซื้อ จัดจ้างของกองทัพยังเทียบกับหน่วยงานอื่นไม่ได้ในเรื่องความโปร่งใส

 

"แนวโน้มจะมีการกำหนดให้ตำแหน่งอื่น ๆ ยื่นและเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะกฎหมาย ป.ป.ช.ฉบับใหม่กำหนดให้ข้าราชการยื่นบัญชีทรัพย์สินทุกคน และการกำหนดให้ต้องเปิดเผยมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ เช่นกัน"

 

สำหรับตำแหน่งเจ้าหน้าที่รัฐกระทรวงกลาโหม-กองทัพที่จะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินในร่าง พ.ร.ป.ป.ป.ช.ฉบับใหม่นั้น มี 79 ตำแหน่ง แบ่งออกเป็น กระทรวงกลาโหม 14 ตำแหน่ง อาทิ

1.หัวหน้าสำนักงานรัฐมนตรี

2.รองปลัดกระทรวง

3.หัวหน้าสำนักงานปลัดกระทรวง

4.หัวหน้าสำนักงานตุลาการทหาร

5.หัวหน้าอัยการทหาร

6.ตุลาการพระธรรมนูญ

 

กองบัญชาการกองทัพไทย 14 ตำแหน่ง อาทิ

1.รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด

2.เสนาธิการทหาร

3.รองเสนาธิการทหาร

4.เลขานุการกองบัญชาการกองทัพไทย

5.ผู้บัญชาการ

6.ผู้อำนวยการ

7.เจ้ากรม

8.จเรทหาร

9.ปลัดบัญชีทหาร

10.รองผู้บัญชาการ

 

กองทัพบก 19 ตำแหน่ง อาทิ

1.รองผู้บัญชาการทหารบก

2.ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก

3.ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก

4.เสนาธิการทหารบก

5.รองเสนาธิการทหารบก

6.แม่ทัพภาคที่ 1-4

7.กรรมการผู้อำนวยการใหญ่สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก หรือช่อง 5 (ประธานโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย)

 

กองทัพเรือ 18 ตำแหน่ง อาทิ

1.รองผู้บัญชาการทหารเรือ

2.ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพเรือ

3.ผู้ช่วยผู้บัญชาการกองทัพเรือ

4.เสนาธิการทหารเรือ

5.รองเสนาธิการทหารเรือ

6.เลขานุการกองทัพเรือ

7.ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1-3

8.ผู้อำนวยการท่าอากาศยานอู่ตะเภา

9.ผู้อำนวยการท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ

 

กองทัพอากาศ 14 ตำแหน่ง อาทิ

1.รองผู้บัญชาการทหารอากาศ

2.ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพอากาศ

3.ผู้ช่วย ผู้บัญชาการทหารอากาศ

4.เสนาธิการทหารอากาศ

5.รองเสนาธิการทหาร อากาศ

 

เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันทิ้งท้ายว่า ควรใช้มาตรการด้านอื่นมาบังคับควบคู่กัน เช่น มาตรการตรวจสอบ ภาษีของกรมสรรพากร ตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อให้การป้องกันการคอร์รัปชั่นมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

 

 

 

 

 

 

 
 
 
 
 

#ร่วมเป็นพลเมืองตื่นรู้สู้โกง

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw